Jan-2017
พิจิตร ไม่ไปไม่รู้
พิจิตร …. เมืองพระดังเมืองนี้มีอะไรนอกจากชาละวันน๊าาา?
พิจิตร เมืองพญาชาละวัน ถิ่นกำเนิดนิทานเรื่อง ไกรทอง เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง มีความหมายว่า “เมืองงาม” ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดนครสวรรค์กับจังหวัดพิษณุโลก มีแม่น้ำน่านกับแม่น้ำยมไหลผ่าน ตัวเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน พิจิตรเป็นเมืองเก่าแก่ ในสมัยสุโขทัยปรากฎในศิลาจารึกหลักที่1ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและในศิลาจารึกหลักที่8 รัชกาลพระยาลิไท เรียกว่า “เมืองสระหลวง” ซึ่งมีสถานะเป็นหัวเมืองเอกของกรุงสุโขทัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองโอฆบุรี” ซึ่งแปลว่า “เมืองในท้องน้ำ” นอกจากนี้เมืองพิจิตรยังเป็นที่ประสูติของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จพระศรีสรรเพชญที่ 8 หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ สมัยรัตนโกสินทร์
เมืองพิจิตรเป็นเพียงเมืองขนาดเล็ก แต่ก็ยังมีเจ้าเมืองปกครองเช่นเมืองอื่นๆ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ย้ายเมืองพิจิตรมาตั้งที่บ้านคลองเรียงซึ่งเป็นคลองขุดใหม่ ลัดแม่น้ำน่านที่ตื้นเขิน คลองเรียงจึงกลายเป็นแม่น้ำน่านไป ส่วนบริเวณเมืองพิจิตรเก่ายังปรากฏโบราณสถานอยู่หลายแห่ง ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยา
เคยไปเที่ยวพิจิตรแบบจัดเต็มครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน คราวนั้นตามเพื่อนไปเที่ยวที่วัดท่าหลวง อุทยานเมืองเก่า วัดเขารูปช้าง วัดโพธิ์ประทับช้าง วัดบางคลาน ไปดูเหมืองทองคำที่เขาพนมพา และอื่นๆมากมาย ไม่คิดว่าจนถึงวันนี้จะได้กลับไปเยือนเมืองน่ารักที่เงียบสงบเมืองนี้อีกหลายครั้ง วันนี้จะขอพาไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่ชอบมากๆคือย่านชุมชนเก่าตลาดวังกรด ตลาดท่าฬ่อ วัดท่าฬ่อ วัดห้วยเขนที่บางมูลนากที่มีของดีซ่อนอยู่คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่สวยงาม ไปชมพระนอนที่สวยงามที่วัดสุขุมาราม ไปเที่ยววัดเทวประสาท เที่ยวตลาดหาของกินอร่อยๆที่ตะพานหิน และได้กลับไปเยือนบึงสีไฟกันอีกครั้งในบรรยากาศใหม่ๆที่ตัวเองยังไม่เคยเห็นจากทริปที่แล้ว
พิจิตรน่าสนใจกว่าที่เราคิด ติดต่อสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย TAT Call Center 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย หรือ www.tourismthailand.org
ส่วนการเดินทางไปพิจิตรก็ทำได้ง่ายๆค่ะ ด้วยการขับรถไปค่ะ แหะๆ
จากกรุงเทพฯ (ทางหลวงหมายเลข 1) แยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ที่อยุธยา ถึงจังหวัดนครสวรรค์ แยกเข้าเส้นทางนครสวรรค์ – ชุมแสง – บางมูลนาก – ตะพานหิน – พิจิตร (ทางหลวงหมายเลข 1118) เข้าสู่จังหวัดพิจิตร รวมระยะทางประมาณ 345 กม.
จากกรุงเทพฯ (ทางหลวงหมายเลข 1) แยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ที่อยุธยา ถึงอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แยกเข้าสู่เส้นทางตากฟ้า – เขาทราย – สากเหล็ก (ทางหลวงหมายเลข 11) และเข้าสู่จังหวัดพิจิตรที่กิ่งอำเภอสากเหล็ก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 111) รวมระยะทางประมาณ 344 กม.
จากกรุงเทพฯ (ทางหลวงหมายเลข 1) แยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ที่อยุธยา ถึงอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แยกเข้าสู่เส้นทางสายตากฟ้า – เขาทราย (ทางหลวงหมายเลข 11) แยกเข้าเส้นทาง เขาทราย – ตะพานหิน (ทางหลวงหมายเลข 113) แยกเข้าเส้นทางตะพานหิน – พิจิตร (ทางหลวงหมายเลข 113) เข้าสู่จังหวัดพิจิตร ระยะทางประมาณ 338 กม.
จากกรุงเทพฯ (ทางหลวงหมายเลข 1) แยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ที่อยุธยา ถีงจังหวัดนครสวรรค์ แยกเข้าเส้นทางนครสวรรค์ – พิษณุโลก (ทางหลวงหมายเลข 117) ถึงอำเภอสามง่าม แยกเข้าเส้นทางสามง่าม – พิจิตร (ทางหลวงหมายเลข 115) เข้าสู่จังหวัดพิจิตร รวมระยะทาง 360 กม.
รถโดยสารประจำทาง
รถประจำทาง (บ.ข.ส.) มีรถประจำทาง(บขส. สีส้ม) ไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ – พิจิตร ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถ.กำแพงเพชร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 02-537-8055
รถประจำทางปรับอากาศ มีรถปรับอากาศชั้น1 ของบริษัทเชิดชัยทัวร์ออกทุกวันๆละ 4 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 9.00-22.10น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 02-936-0199
หรือทางรถไฟ
รถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไป-กลับ ระหว่าง กรุงเทพฯ – พิจิตร ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง สามารถขึ้นได้จากสถานีสามเสน บางซื่อ ดอนเมือง สนใจติดต่อหน่วยประชาสัมพันธ์การรถไฟ โทร. 02223-7010, 02223-7020
((ขอบคุณข้่อมูลการเดินทางจากทัวร์ไทยดอทคอมค่ะ))
สถานีรถไฟพิจิตร
จริงๆไปเที่ยวพิจิตรสามารถทำได้ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์นะคะ ออกเช้ามืดขับเรื่อยๆก็ถึงพิจิตรซักสิบโมง แวะเที่ยวตามทางต่อได้เลยค่ะ จุดหมายแรกของวันนี้เป็นตัวอำเภอตะพานหิน อำเภอใหญ่เก่าแก่ที่เคยมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่าง จำได้ว่าสมัยเรียนจะรู้จักตะพานหินมากกว่าตัวจังหวัดพิจิตรซะอีก
วัดเทวประสาท ตะพานหิน ที่มีพระพุทธเกตุมงคล หรือ หลวงพ่อโตตะพานหิน เป็นพระประธานองค์ใหญ่ที่เห็นเด่นเป็นสง่าจากในตัวเมืองเลยค่ะ
หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตักกว้าง 20 เมตร เฉพาะองค์พระสูง 30 เมตร แท่นสูง 4 เมตร รวมความสูงทั้งสิ้น 34 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อปี พ.ศ. 2513 นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามได้สัดส่วนและใหญ่ที่สุดของจังหวัดพิจิตร มุมที่สวยที่สุดน่าจะเป็นมุมแถวๆตลาดฝั่งตรงข้ามน่ะค่ะ
สถานีรถไฟตะพานหิน
เป็นสถานีรถไฟระดับ 1 ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ระยะทางจากกรุงเทพถึงสถานีตะพานหินคือ 319 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 4 ถึง 6 ชั่วโมง เบอร์โทร. 0-5662-1055
บริเวณสถานีเป็นตึกเก่า แต่สะอาดอะอ้านและค่อนข้างเงียบ มีร้านค้าอยู่ฝั่งตรงข้ามทางรถไฟมากมาย ซึ่งเราสามารถเดินข้ามไปตลาดตะพานหินได้เลยค่ะ ใครๆหลายคนคงจะมีความทรงจำกับที่่นี่ทั้งคนที่ใช้รถไฟในการเดินทางขึ้นลงสายเหนือน่าจะพอคุ้นตานะคะ
ย่านเก่าตลาดวังกรด
ย่านเก่าตลาดวังกรด ตั้งอยู่ทางตะวัดออกริมแม่น้ำน่าน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนประกอบอาชีพค้าขายเป็นชุมทางการค้าทั้งทางน้ำและทางบก ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงตามการเติบโตแขะขยายตัวของเศาษฐกิจโดยเฉพาะจากการสร้างทางรถไฟสายเหนือและสถานีวังกรด โดยที่ชุมชนตลาดบ้านวังกรดเป็นชุมชนแห่งเดียวของจังหวัดพิจิตรในขณะนี้ที่ยังคงลักษณะความเก่าแก่ทั้งทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เดินทางมาปักหลักตั้งแหล่งชุมชนค้าขายเมื่อสมัยหลายร้อยปีก่อน และมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพิจิตรและภาคเหนือมากๆ มาเรียไปเห็นด้วยตาแล้วอยากให้ตลาดฟื้นกลับมาคึกคักจริงๆ นี่ถ้าอยู่ใกล้กรุงเทพซักนิด รับรองว่าต้องคึกคักไม่แพ้สามชุก หรือตลาดร้อยปีเชียวค่ะ
จริงๆแล้วทางรัฐได้พูดคุยร่วมกับราษฎรชุมชนตลาดบ้านวังกรดถึงแนวทางการพัฒนาให้ชุมชนตลาดบ้านวังกรด ให้ป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ โดยมีการจุดประกายความคิดในเรื่องของประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนตลาดวังกรดที่ได้ตั้งแหล่งชุมชนแหล่งนี้ขึ้นมาใกล้เคียงกับการตั้งเมืองพิจิตรเมื่อเกือบพันปีก่อน และเป็นแหล่งที่ชาวไทยเชื้อสายจีนได้อพยพมาปักหลักอาศัยทำการค้าขายเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดพิจิตรและใกล้เคียงเมื่อในอดีต และมีศักยภาพที่สามารถจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ไม่ยาก
บ้านเก่าวังกลม บ้านเก่าแก่ของวังกรดที่เก็บข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณเอาไว้อย่างน่าดุชม เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์พิ้นบ้านขนาดย่อมๆ น่าสนใจมากเชียวค่ะ
การเดินทางมาย่านเก่าวังกรด
ทางรถไฟ มีบริการรถไฟสายเหนือ ออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน ขบวนที่จอดสถานีวังกรดวันล่ะ 4 เที่ยว โทร 1690 www.railway.co.th
ทางรถยนต์
จากพิจิตร ใช้เส้นทางหมายเลข 115 จนข้ามสะพานแม่น้ำน่าน แยกเข้าทางซ้ายมือตามป้ายสถานรถไฟวังกรด เลี้ยวขวาที่ใต้สะพานตามเส้นทางขนานทางรถไฟ เลี้ยวเซ้ายเข้าถนนเทศบาล ขับตามเส้นทางตรงเข้าสู่ตลาดวังกรด
รถตู้ประจำทาง
ออกจากอนุสาวรีย์ชัย ถึงตลาดวังกรดทุกวัน วันล่ะ 9 เที่ยว เริ่มตั้งแต่ 0700-1900 สอบถามโทร 081-5580366 และ 081-3096253
ศาลเจ้าพ่อวังกลม ริมแม่น้ำน่านที่ย่านชุมชนเก่าวังกรด ที่เป็นที่ศรัทธาและเป็นศูนย์รวมใจของชาววังกรดจนมีงานแสดงงิ้วที่เป็นงานใหญ่ของที่นั่น ซึ่งเป็นงานที่จัดกันทุกปีในช่วงเดือนพย.
วัดท่าฬ่อ
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าฬ่อ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมืองพิจิตร บริเวณวัดมีพระอุโบสถไม่ปรากฎว่าสร้างเมื่อใด ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดพุทธประวัติพระเจ้าสิบชาติและประดิษฐานพระพุทธเก่าแก่ปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพานโดยสัญนิฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งนามว่า “หลวงพ่อหิน” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารกลางวัด
ด้านหลังวัดเป็นชุมชนตลาดเก่าที่เป็นตลาดเหนือและตลาดใต้ ซึ่งอาศัยอยู่ในห้องแถวไม้แบบโบราณก็ยังคงดำเนินชีวิตอยู่กันอย่างสงบสุขเหมือนในอดีต แต่ปัจจุบันการค้าขายในตลาดเงียบเหงามาก วันที่ไปเห็นร้านรวงบ้่านเรือนปิดเป็นส่วนมาก อาจจะเป็นวันธรรมดา ตลาดเงียบมากๆค่ะ เห็นแต่คนแก่ออกมานั่งหน้าบ้าน มองไปทางไหนเห็นแ่ต่คุณตาคุณยายนั่งหน้าร้านขายของหรือในบ้าน มองดูแล้วเศร้าเหมือนกัน แต่เชื่อว่าเมื่อวันเทศกาลหรือมีงานบุญ งานบวช งานต่างๆลูกหลานชาวท่าฬ่อน่าจะกลับบ้านมาร่วมงานและทำให้ตลาดกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่คงจะกลับมามีชีวิตชีวามีความสุขกระชุ่มกระชวยขึ้นแน่นอนค่ะ
ศาลเจ้าแม่ทับทิม
ศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ ภายในศาลมีองค์เจ้าแม่ทับทิม (ตุ้ยบ่วยเต่งเหนี่ยง) เป็นองค์ประธาน ด้านขวาเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อกวนอู ด้านซ้ายเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อปุ้นเถ่ากง และปุ้นเถ่าม่า ตามประวัติและหลักฐานที่ปรากฏอยู่พบว่าองค์เจ้าแม่ทับทิม และองค์เจ้าพ่อกวนอู ได้อัญเชิญมาจากเกาะไหหลำ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในราวปี พ.ศ. 2410 ในสมัยนั้นเจ้าของอู่ต่อเรือซึ่งตั้งถิ่นฐานทำการค้าที่หมู่บ้านท่าฬ่อเป็น ผู้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ทับทิมมาจากประเทศจีน ได้บริจาคซุงไม้สัก จำนวน 2 แพ เพื่อปลูกสร้างศาลขนาดใหญ่ถวายแด่องค์เจ้าแม่ทับทิมและเจ้าพ่อกวนอู ให้เป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้าน และผู้เลื่อมใสศรัทธาทั้งใกล้และไกล ยิ่งกว่านั้นศาลเจ้าแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ สอนหนังสือไทย และหนังสือจีน ให้แก่บุตรหลานในหมู่บ้านอีกด้วย นับตั้งแต่นั้นมาความเจริญทางด้านการค้าและการเติบโตของครอบครัวในหมู่บ้าน ก็มีมากขึ้นตามลำดับ หลักฐานตามประวัติ และถาวรวัตถุอันล้ำค่าของศาลเจ้าแห่งนี้คือ เกี้ยวสำหรับประทับขององค์เจ้าแม่ ที่ได้นำมาจากประเทศจีน เป็นเรือนไม้แกร่งแกะสลักทั้งหลังด้วยลายดอกไม้ และสัตว์ต่าง ๆ ตามแบบฉบับศิลปะของจีน วัตถุกายสิทธิ์ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำเซียนทั้งแปด (โป๊ยป้อ) จำนวน 2 ชุด (16 อัน) นับเป็นวัตถุล้ำค่าซึ่งทำมาเฉพาะจากนครกวางเจาในสมัยนั้น
ความศักดิ์สิทธิ์ และอภินิหารของเจ้าพ่อ เจ้าแม่ แห่งศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ เป็นที่เลื่องลือกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรกแล้ว ศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกลต่างก็ได้รับความสุขความเจริญ ปราศจากอันตรายอย่างทั่วถึงกันตราบเท่าทุกวันนี้
เก็บตกเมืองพิจิตร
มีเพื่อนสนิทเป็นคนที่นั่นเลยได้แวะที่โน้นที่นี่หลายแห่ง รวมทั้งวัดอื่นๆด้วย เช่นวัดใหม่คำวันหรือวันหัวดง เพราะอยู่ใกล้ละแวกบ้าน
วัดเขารูปช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลดงป่าคำ ตามเส้นทางสายพิจิตร-ตะพานหิน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรจากต้วเมือง มีเจดีย์แบบลังกาซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีหินสีขาวซ้อนกันมองดูคล้ายช้าง สามารถเดินขึ้นทางบันไดนาคที่มีความสูง 136 ชั้น
พระพุทธรูปประทับนั่งปางเลไลย์
สร้างพศ.2506 เป็นปางที่พระพุทธเจ้าทรงเบื่อหน่ายพระสาวกที่ขัดแย้งกันรุนแรง พระองค์จึงเสด็จไปประทับใต้ร่มไม้สาระในป่ารักขิตวันโดยลำพัง มีช้างและลิงมาอยู่ถวายเป็นอุปัฏฐากเพื่ออุปถัมภ์หาน้ำและอาหารถวาย พร้อมช่วยปัดกวาดดูแลระวังภัยบริเวณที่ประทับ
วัดเขารูปช้างแต่เดิมเป็นเจดีย์เก่ามาก่อน และทางวัดได้ทำการปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อประมาณ 20 ปีมานี้ โดยประดับกระเบื้องเคลือบสีทองทั้งองค์ มีรั้วรอบองค์เจดีย์ สำหรับลานกว้างบนยอดเขาเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นจังหวัดพิจิตรในมุมสูงโดยรอบได้ โดยทางวัดได้สร้างวิหารใหญ่ขึ้นหลังหนึ่งและมีเจดีย์เก่าอยู่องค์หนึ่งเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา มีตัวระฆังเป็นกลีบมะเฟืองแต่ยอดเจดีย์หักแล้ว นอกจากนั้นยังมีมณฑปแบบจตุรมุขหลังเก่าอยู่ใกล้กับโบสถ์หลังใหม่ ภายในมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสำริดและที่ฝาผนังมีภาพเขียนเรื่องไตรภูมิพระร่วง
วัดเขารูปช้างสร้างอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ แต่ก็สูงเพียงพอให้เห็นวิวของจังหวัดพิจิตรโดยรอบในมุมกว้าง และโชคดีที่ตอนไปเป็นช่วงหน้าฝน มองไปทางไหนก็จะเห็นทุ่งนาเขียวสดชื่น ยิ่งได้ท้องฟ้าและเมฆสวยๆ ยิ่งขับให้พิจิตรในมุมนี้สวยงามน่าอยู่ชะมัด
งานเพ็ญเดือน 3 ที่วัดเขารูปช้างจัดได้ยิ่งใหญ่อลังการจริงๆ
วัดใหม่คำวัน วัดใหญ่อีกวัดใกล้ๆวันหัวดงกับวัดเขารูปช้าง
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๕ หมู่ที่ ๕ บ้านดงป่าคำใต้ ตำบลดงป่าคำ อำเภอเมือง จังหวัดพิ่จิตร วัดใหม่คำวันสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๐ โดยมี ขุนคำวันได้นำชาวบ้านจัดสร้างและประชาชนนิยมเรียก “วัดดงป่าคำใต้” มีวิหารทอง วิหารแก้ว และตอนนี้กำลังจัดสร้างรูปหล่อหลวงพ่อเงินองค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพิจิตรอีกด้วยค่ะ
วัดบางคลาน
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านเก่า สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือ สิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจของวัดนี้คือ พิพิธภัณฑ์นครไชยบวร เป็นพิพิธภัณฑ์รูปมณฑป 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของ หลวงพ่อเงิน เกจิอาจารย์ที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศรู้จักและเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งที่เคยจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ชั้นล่าง เป็นพิพิธภัณฑ์นครไชรบวร เป็นที่แสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ทางวัดได้สะสมไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุที่มีผู้นำมาถวาย เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ เปิดให้ประชาชนนมัสการระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5666 9030-1
วัดโพธิ์ประทับช้าง
เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2242-2244 ในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี(ขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระพุทธเจ้าเสือ)พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ณ สถานที่ประสูติของพระองค์
วัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำพิจิตรเก่า หน้าวัดมีต้นตะเคียนซึ่งกล่าวกันว่ามีอายุราว 260 ปี วัดโดยรอบได้ 7 เมตร 60 เซนติเมตร หรือ 7 คนโอบ ภายในวัดมีพระวิหารสูงใหญ่ มีกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น เป็นศิลปะแบบอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2478 นอกจากนี้ชาวอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ได้สร้างอนุสาวรีย์พระพุทธเจ้าเสือไว้เป็นที่ระลึก ข้างที่ว่าการอำเภอโพธิ์ประทับช้างอีกด้วย โบสถ์เป็ศิลปะแบบอยุธยา ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” หรือ “หลวงพ่อยิ้ม” เนื่องจากพระพักตร์ของท่านดูยิ้มแย้มเป็นที่อิ่มเอมใจแก่ผู้ที่มาสักการะ
การเดินทาง วัดนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 27 กิโลเมตร ไปตามถนนสายพิจิตร – วังจิก(ทางหลวงหมายเลข1068) ประมาณ กม.ที่ 12-13 เลี้ยวแยกซ้ายไปทางอำเภอโพธิ์ประทับช้าง (ทางหลวงหมายเลข 1300) ก่อนถึงตัวอำเภอจะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงวัดโพธิ์ประทับช้าง
วัดท่าหลวง พระอารามหลวง
เป็นวัดสำคัญของจังหวัดพิจิตร อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ถนนบุษบา ใกล้ศาลากลางจังหวัดเก่า วัดนี้สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2388 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีพุทธลักษณะงดงามมาก มีหน้าตักกว้าง 1.40 เมตร สูง 1.60 เมตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองพิจิตร
ปีก่อนได้ไปวัดท่าหลวงตอนที่เค้าจัดงานไหลเรือไฟด้วยน่ะ …. ใช่แล้ว ฟังมิผิด พิจิตรมีงานไหลเรือไฟน่ะจ๊ะ
องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปมีพระพุทธลักษณะที่งดงาม และทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดท่าหลวง(พระอารามหลวง) นอกจากจะเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามทรงรูปศิลป์แล้ว พระพุทธลักษณะองค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกหล่อด้วยโลหะสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร สังฆาฎิสั้นเหนือพระอุระ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว สูง ๓ ศอก ๓ นิ้ว ที่ที่ประทับนั่งนบฐานที่มีรูปบัวคว่ำบัวหงายรอบรับ สร้างในระหว่างปีพุทธศักราช ๑๖๖๐ ถึง ๑๘๘๐ สร้างมาแล้วประมาณ ๘๘๒ ปีวัดเขารูปช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลดงป่าคำ ตามเส้นทางสายพิจิตร-ตะพานหิน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรจากต้วเมือง มีเจดีย์แบบลังกาซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีหินสีขาวซ้อนกันมองดูคล้ายช้าง สามารถเดินขึ้นทางบันไดนาคที่มีความสูง 136 ชั้น วัดเขารูปช้างแต่เดิมเป็นเจดีย์เก่ามาก่อน และทางวัดได้ทำการปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อประมาณ 20 ปีมานี้ โดยประดับกระเบื้องเคลือบสีทองทั้งองค์ มีรั้วรอบองค์เจดีย์ สำหรับลานกว้างบนยอดเขาเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นจังหวัดพิจิตรในมุมสูงโดยรอบได้
อุทยานเมืองเก่า ศาลหลักเมือง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเมืองพิจิตรเก่า สร้างในสมัยพระยาโคตรบอง ประมาณปี พ.ศ. 1601 ภายในบริเวณกำแพงเมืองมีพื้นที่ประมาณ 400 ไร่เศษ มีลักษณะเป็นเมืองโบราณ ประกอบไปด้วย กำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่า ฯลฯ
บึงสีไฟ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เดิมมีเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ ปัจจุบันเหลือประมาณ 5,000 ไร่ บึงสีไฟเป็นส่วนหนึงของสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นสวนสมเด็จฯแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยจังหวัดพิจิตรร่วมกับกรมการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาศ พระชนมายุครบ 80 พรรษา วนสมเด็จพระศรีนครินทร์ มีเนื้อที่ 170 ไร่ โดยเป็นพื้นดิน 120 ไร่ และพื้นน้ำ 50 ไร่ มีลักษณะเป็นสวนริมบึงสีไฟที่มีสะพานทอดลงน้ำลงสู่ศาลาใหญ่ สวนบริเวณริมบึงได้จัดตกแต่งให้เป็นสวนที่มีทั้งไม้ใหญ่และสวนไม้ดอกไม้ประดับ มีเวทีเนินดินสำหรับใช้จัดรายการบันเทิง ต่าง ๆ
แวะชุมชนไทยพวนที่บ้านป่าแดง ใจอยากได้ผ้าทอพื้นเมืองมาฝากแม่ซักผืนแต่โชคไม่ดีไม่ได้เสียเงินเพราะร้านค้าขายผ้าทอ OTOP ของตำบลปิดเลยพลาดโอกาสอุดหนุนสินค้าชาวบ้านเลย
ไทยพวน
เป็นเผาชนเชื้อชาติมองโกลอยด์ มีผิวเหลืองอยู่ในเผาไทยเช่นเดียวกับไทยกลาง ไทยหยวน หรือไทยโยนก ฯลฯ บรรพบุรุษเดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ซึ่งได้อพยพเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารของพระเจ้าแผ่นดินไทยโดยกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆทั้งสิ้น 37 จังหวัด
ชาวบ้านป่าแดง ต.หนองพยอม อ.ตะพานหิน เดิมเป็นชาวบ้านหมี่ จ.ลพบุรี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทอผ้า เอกลักษณ์ของไทยพวนบ้านป่าแดงคือการพูดภาษาไทยพวน การถือปฏิบัติในประเพณีกำฟ้าซึ่งจัดงานประมาณเดือนกุมภาพันธ์ทุกปีและผ้าทอมัดหมี่ ซึ่งจัดเป็นศิลปะพื้นบ้านที่งดงามยิ่ง
นอกจากผ้าทอซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านป่าแดงยังมีเอกลักษณ์อื่นๆเช่นการใช้ภาษาไทยพวนในชีวิตประจำวัน การจัดประเพณีบุญข้าวจี่แห่บ้องไฟบุญกำฟ้า แห่นางแมว สารทพวน บุญข้าวห่อ บุญพระเวส พิธีเลี้ยงนา ทำขวัญแม่โพสพ การเล่นผีนางกวัก นางดัง นางสาก (อยากเห็นมากอ่ะ)
บ้านพักโฮจิมินห์
จากครั้งแรกที่ไปพิจิตรเมื่อสามสี่ปีก่อน มาถึงวันนี้ได้มีโอกาสไปเยือนเมืองเล็กๆที่ไม่ใช่เมืองผ่านเมืองนี้มาเกือบสิบครั้ง และถ้ามีโอกาสก็จะกลับไปเยี่ยมเมืองเล็กๆที่สงบเงียบน่าอยู่เมืองนี้อีกแน่นอนค่ะ ไปเที่ยวสบายๆไม่ต้องแย่งกันกินแย่งกันเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยน่าสนใจให้ได้ไปสัมผัสมากมาย ค่าครองชีพถูก ผู้คนก็เป็นมิตรน่ารัก ทริปนี้ประทับใจกับหลายที่หลายสิ่ง แต่ส่วนตัวประทับใจที่ได้ไปเก็บภาพบึงสีไฟยามเย็น ย่านชุมชนเก่าตลาดวังกรดมากๆตามประสาคนที่ชอบเดินเล่นชมตลาดเก่า คราวนี้ไปเดินเล่นวันธรรมดาแบบเงียบเหงาไปหน่อย ทั้งๆที่ตัวตลาดมีความน่าสนใจและมีความพร้อมที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ไม่อยาก ทั้งชาวบ้านที่ยังคงวิถีชีวิตเดิมๆ อาคารบ้านเรือนเก่าที่ยังสวยงามสมบูรณ์อยู่มาก การเดินทางที่สะดวกที่สามารถมาได้ทั้งทางรถยนต์ รถไฟและทางเรือ
รวมทั้งตลาดเหนือ ตลาดใต้ที่ท่าฬ่อ ที่มีบรรยากาศหลังวัดสวย และอยู่ริมน้ำ บรรยากาศชิลล์มาก แต่มองไปทางไหนก็เห็นคุณตาคุณยายแก่ๆอยู่กันแบบเงียบเหงา การค้าขายเงียกกริบ ก็ขอเอาใจช่วยให้ตลาดวังกรดและท่าฬ่อกลับมามีชีวิตและรุ่งเรืองเหมือนครั้งอดีตอีกครั้ง